วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

PANTIP.COM : Y8808377 == หลวงพ่อปราโมทย์สอนอะไร ในมุมมองของคนคนหนึ่ง == []

usPANTIP.COM : Y8808377 == หลวงพ่อปราโมทย์สอนอะไร ในมุมมองของคนคนหนึ่ง == []



หลวงพ่อปราโมทย์สอนอะไร ในมุมมองของคนคนหนึ่ง ==

MsgStatus(Msv[0], 0);

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจมีบางท่านเริ่มสนใจอยากทราบว่าหลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนอะไร อธิบายธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอนแบบไหน วันนี้ผมจึงขอโอกาสเรียบเรียงคำสอนของท่านในมุมหนึ่งที่ผมประทับใจ เผื่อว่าจะพอมีประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจบ้างหลวงพ่อท่านเคยกล่าวไว้ว่า ท่านพยายามสอนธรรมะให้เป็นระบบ ให้ผู้ฟังทราบว่าจะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร ต้องปฏิบัติอะไรบ้าง ปฏิบัติแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจภาพรวม เพราะเมื่อเข้าใจภาพรวมแล้วจะไม่หลงทาง=============1. ปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไรท่านอธิบายไว้ว่าเราควรศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อความ "พ้นทุกข์" หรือที่เรียกเป็นทางการว่าเพื่อนิพพาน ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อความเป็นอะไรบรรลุอะไร และไม่ใช่เพื่อความดับทุกข์ เพราะตราบที่ยังมีเหตุ ทุกข์ก็ต้องเกิด และท่านยังชอบชี้ชวนให้มองภาพรวมของชีวิตว่าเราจมอยู่กับทุกข์โดยไม่รู้ตัว มัววิ่งหาความสุขไปข้างหน้าโดยไม่เคยสมหวัง เช่น ตั้งแต่ยังเด็กก็คิดว่าโตแล้วจะมีความสุขเป็นอิสระ พอโตหน่อยก็อยากเรียนให้จบเรียนให้สูงจะมีความสุข พอจบตรีก็สุขไม่พอต้องจบโท จบโทแล้วอยากจบเอก เรียนจบแล้วยังไม่มีความสุขต้องได้งานดีๆ ก่อน ได้งานดีแล้วไม่สุขก็ต้องแต่งงาน แต่งงานแล้วต้องมีลูก มีลูกก็ต้องรอลูกโตถึงจะมีความสุข ลูกโตแล้วก็อยากเลี้ยงหลาน จนตัวแก่หง่อมเริ่มไม่สบายก็หวังความแข็งแรง จนตัวใกล้ตายก็หวังให้ตายซะจะได้พ้นความป่วยไข้จะได้มีความสุข ดังนั้นเป้าหมายในการศึกษาปฏิบัติก็คือเพื่อให้เราพ้นจากทุกข์ แล้วจะได้พบความสุขแท้จริงในปัจจุบัน ไม่ต้องหวังความสุขจากอนาคต ไม่ต้องหวังความสุขจากผู้อื่น สิ่งอื่น ซึ่งล้วนแต่แปรปรวนเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เคยอยู่เป็นตัวเป็นตนอะไรเพื่อให้ความสุขแก่ใครได้จริง2. ต้องปฏิบัติอะไร หัวใจของธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอน คืออริยสัจจ์ ดังที่เคยตรัสไว้ว่าธรรมทั้งปวงที่ทรงสอนล้วนย่อมรวมลงได้ในอริยสัจจ์ โดยนับจากการเทศน์ครั้งแรกของพุทธองค์คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ได้เริ่มจากแนะนำให้ผู้ศึกษาอย่าติดในส่วนสุดสองข้างคือการตามใจกิเลส กับการบังคับตนให้ต้านกิเลส แต่ให้ดำเนินทางสายกลาง แล้วทรงเทศน์อธิบายอริยสัจจ์สี่หลวงพ่อปราโมทย์ได้พยายามสรุปคำอธิบายการดำเนินชีวิตดำเนินจิตผิดพลาดสองทาง และการดำเนินชีวิตดำเนินจิตในทางสายกลาง ให้เป็นสภาวะที่คนฟังสามารถสำรวจตรวจสอบในจิตใจได้ทันทีที่ต้องการศึกษา ว่าการตามใจกิเลสนั้นคือการหลงเผลอไม่มีสติ การบังคับตนต้านกิเลสนั้นเป็นการเพ่งไว้ ส่วนทางสายกลางคือมีสติรู้สึกตัว ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางต่อสภาวะต่างๆ ที่จิตไปรู้การอธิบายส่วนสุดสองข้างเป็นคำว่า เผลอและเพ่ง นั้น หลวงพ่อท่านเลียนแบบพระพุทธเจ้ามาจากพระสูตร "โอฆตรณสูตร" เมื่อมีผู้ถามว่าพระพุทธองค์ทรงข้ามโอฆะ (ห้วงทุกข์) ได้อย่างไร แล้วพระพุทธองค์ทรงตอบว่า "ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ"เมื่อผู้ถามขอคำอธิบาย พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล ฯโดยหลวงพ่อท่านขยายในมุมมองของท่านว่า เมื่อพักอยู่ก็คือเผลอหลงไปตามโลกและกามคุณทั้งหลาย จิตย่อมไหลลงต่ำไปจนถึงอบาย เป็นการจมลง ส่วนเมื่อเพียรอยู่ก็คือบังคับและเพ่ง เมื่อบังคับได้ดีเป็นคนดีก็ลอยไปสวรรค์ เมื่อเพ่งได้ที่จนเกิดเป็นฌานก็ลอยไปสู่พรหมโลก แต่ทั้งสองด้านล้วนยังวนเวียนอยู่กับทุกข์ ยังไม่พ้นทุกข์ส่วนทางสายกลางอันไม่พักและไม่เพียรก็คือไม่เผลอและไม่เพ่งจนเหลือแต่รู้ ท่านอธิบายจากกิจแห่งอริยสัจจ์ข้อแรกว่า "ทุกข์ให้รู้" เชื่อมโยงกับสติปัฏฐานว่ามีกริยาหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราปฏิบัติคือ "รู้" ดังตัวอย่างข้อความจากมหาสติปัฏฐานสูตรว่าจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะจิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะส่วนสิ่งที่ให้ศึกษาเรียนรู้ก็คือ "กายกับใจ" ของเราเอง อันมาจากกิจต่ออริยสัจจ์ข้อแรกว่าทุกข์ให้รู้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็คือกายใจของเรานั่นเองสรุปว่าหลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนให้พวกเราฝึกสติรู้สึกตัว คอยตามรู้กายใจตนเองเนืองๆ คอยรู้สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกายในใจตามความเป็นจริง จนจิตจำสภาวะต่างๆ ของกายและใจได้ แล้วเกิดสัมมาสติพร้อมจิตที่ตั้งมั่นเป็นขณิกะสมาธิ (เพราะสัมมาสติมีเหตุเกิดได้จากการที่จิตจำสภาวะได้ - ถิรสัญญา) หรือหากใครทำสมาธิได้ดีก็ให้ทำสมาธิก่อน เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิก็ให้คอยสังเกตจิตที่ไม่ตั้งมั่น อันแตกต่างจากจิตที่ตั้งมั่นในสมาธิ แล้วหมั่นเจริญสติในชีวิตประจำวัน สังเกตรู้ไปเรื่อยๆ จนจิตเห็นความจริงของตนเองว่าเมื่อมีสภาวะใดๆ เกิดขึ้น จิตมักให้คุณค่าเป็นชอบหรือชัง แล้วเป็นสุขเป็นทุกข์โลดเต้นไปจนหาที่สุดไม่ได้ ให้คอยสังเกตไปจนเห็นสามัญลักษณะของทุกสิ่ง ว่าล้วนเกิดขึ้นแล้วต้องดับไปทั้งสิ้น ยึดมั่นเป็นคุณค่าใดๆ ไม่ได้เลย3. ปฏิบัติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้ศึกษาหมั่นฝึกฝนปฏิบัติ คอยมีสติรู้สึกตัวให้ได้มากที่สุดตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับไปในทุกๆ วัน คอยเฝ้ารู้สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ความโกรธ ความขัดใจ ความไม่พอใจ การหลงเผลอสติไป รวมถึงสภาวะการเคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอน สิ่งที่ผู้ศึกษาจะได้เรียนรู้คือสภาวะต่างๆ ล้วนไม่ใช่ตัวเรา ความโกรธก็ไม่ใช่ตัวเรา ความโลภก็ไม่ใช่ตัวเรา ความคิดก็ไม่ใช่ตัวเรา แม้การยืนเดินนั่งนอนก็ไม่ใช่ตัวเรา และไม่ใช่ตัวใคร เมื่อจิตรับรู้ความเป็นจริงของกายใจว่าไม่ใช่ตัวของใคร (อัตตาไม่มี) ด้วยความตั้งมั่นและเป็นกลาง (เป็นสัมมาสติและสัมมาสมาธิ) จิตจะค่อยๆ ถอดถอนความหลงผิดว่าตัวเรามีอยู่ (สักกายทิฏฐิ) เมื่อจิตเริ่มถอนความเห็นผิด ความทุกข์ก็จะเริ่มลดลง ซึ่งหลวงพ่อท่านย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า หากปฏิบัติธรรมถูกต้อง ความสุขจะเริ่มโชยมาให้สัมผัสได้ทันที เพราะจิตเริ่มพ้นจากความทุกข์ที่เคยจมอยู่ หากปฏิบัติแล้วทุกข์ยิ่งมากขึ้น ก็ขอให้รู้ว่าไปผิดทางเมื่อจิตรู้ความจริงมากพอ จนสามารถสลัดความเห็นผิดว่ากายใจเป็นตัวตนของตนทิ้งไปได้ จิตจะหลุดพ้นขั้นต้น พ้นทุกข์ก้อนใหญ่ (เท่าแผ่นดิน) เหลือเพียงความทุกข์เล็กน้อย (เท่าฝ่ามือ) เข้ากระแสที่จะพ้นทุกข์สิ้นเชิงในที่สุด=================หลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนอยู่ในหลักเหล่านี้ แล้วจึงประกอบด้วยการชี้สภาวะตามความเป็นจริง ให้เราไปคอยศึกษาสังเกตตัวเองในทุกๆ วัน พร้อมด้วยตัวอย่างที่เราประสบพบเจอในชีวิตประจำวันของคนทำงานเดินดินกินเงินเดือนทั่วไป ช่วยให้ผู้ศึกษาซึ่งส่วนมากก็คือคนเมืองเดินดินเล่นอินเตอร์เนตอย่างเราๆ ได้หลักฝึกฝนจิตศึกษาใจจนเกิดผลกันพอสมควรในแต่ละคน ความเข้าใจที่ผมเรียบเรียงมานี้ หากมีส่วนใดผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากที่ท่านสอน ขอกราบขอขมาไว้ ณ ที่นี้ และขอให้ผู้รู้ทุกท่านได้โปรดติติงแนะนำ เสนอข้อความถูกต้องทดแทน เพื่อผมจะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น และเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ต้องการศึกษาต่อไปขอให้เจริญในธรรมกันทุกท่านครับ
จากคุณ
: จุ๊